ประวัติค่ายประเสริฐสงคราม
ค่ายประเสริฐสงคราม ขนานนามเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พลตรี พระยาประเสริฐสงคราม อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๑๐ จังหวัดร้อยเอ็ด และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๔๗๖ ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๑๐ พลตรี พระยาประเสริฐสงคราม ได้พัฒนาหน่วยให้เจริญรุ่งเรือง ปกครองทหารผู้ใต้บังคับบัญชา ให้มีระเบียบวินัยอย่างดียิ่งและประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา กับได้พัฒนาความเจริญในท้องถิ่น โดยร่วมมือกับฝ่ายบ้านเมือง ปลูกฝังความสามัคคี สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของทุกฝ่าย ทำให้สังคมมีแต่ความสงบสุขร่มเย็น จึงได้รับการยกย่องเคารพนับถึงจากทหารและประชาชน ให้เป็นบุคคลตัวอย่างในสมัยนั้น
พลตรี พระยาประเสริฐสงคราม มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ โดยไดรับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพและประเทศชาติ เป็นอเนกประการ
เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติประวัติ มณฑลทหารบกที่ ๒๗ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อค่ายทหารว่า “ค่ายประเสริฐสงคราม” ตามประกาศกองทัพบก ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๙ ค่ายประเสริฐสงคราม มีเนื้อที่ ๑,๒๕๔ ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหนองตากล้า หมู่ที่ ๑๑ ตำบล เหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหน่วยทหาร ๔ หน่วย คือ มณฑลทหารบกที่ ๒๗, กองพันทหารราบที่ ๑ กรมทหารราบที่๑๖, หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ ๒๗ และ ชุดบริการสนามบิน และหอบังคับการบินที่ ๖ เหตุผลสำคัญในการขอพระราชทานนามค่าย เพื่อสดุดีเกียรติคุณ พลตรี พระยาประเสริฐสงคราม ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพ และประเทศชาติ เป็นอเนกประการ
นามหน่วย “มณฑลทหารบกที่ ๒๗” นามย่อ “มทบ.๒๗” ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ตามคำสั่ง ทบ. (เฉพาะ) ที่ ๓๗/๕๘ ลง ๒๕ ก.ย.๕๘ เรื่องการแปรสภาพ จังหวัดทหารบก เป็น มณฑลทหารบก และกำหนดระดับความพร้อมรบ มณฑลทหารบก ลง ๒๕ ก.ย.๕๘ ตาม อฉก. หมายเลข ๕๖๒๐ ลง ๓๐ มิ.ย.๒๖ และ อจย. หมายเลข ๕๑-๓๐๑ ลง ๕ ส.ค.๓๑
มีที่ตั้งหน่วยชั่วคราวครั้งแรกอยู่ในพื้นที่บ้านโสกเชือก ต.โพธิ์สัย อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งปัจจุบันเป็น อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด และเป็นที่ตั้งค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มณฑลทหารบกที่ ๒๗ ได้เคลื่อนย้ายเข้าที่ตั้งปกติถาวรในพื้นที่บ้านหนองตากล้า หมู่ที่ ๑๑ ต.เหนือเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า“ค่ายประเสริฐสงคราม” เป็นจังหวัดทหารบก ชั้น ๑ ปัจจุบันแปรสภาพเป็น มณฑลทหารบกที่ ๒๗
ภารกิจ (Mission)
๑. บังคับบัญชากำลังประจำถิ่นของกองทัพบกตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
๒. รักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ รวมทั้งการศาลทหาร การคดี และเรือนจำ
๓. ดำเนินการระดมสรรพกำลังในเขตพื้นที่
๔. สนับสนุนหน่วยทหารที่อยู่ในเขตพื้นที่
๕. ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ การต่อสู้เบ็ดเสร็จ เพื่อรักษาความสงบภายในและการป้องกันประเทศ
๖. ช่วยเหลือประชาชน
๗. บรรเทาสาธารณภัย
วิสัยทัศน์ (Vision)
“เป็นหน่วยที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนภารกิจทางทหาร และหน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบ ตลอดจนเสริมสร้างความเชื่อมั่น และศรัทธาต่อประชาชน”
การพัฒนาหน่วย ผู้บังการจังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด และ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๒๗ ในอดีตที่ผ่านมา ทุกท่านได้ร่วมกับกำลังพลและครอบครัวปรับปรุงพัฒนาหน่วยให้มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านสถานที่
ระบบสาธารณูปโภค เพื่อให้หน่วยเป็นค่ายทหารที่ร่มรื่น น่าอยู่ น่าพักอาศัย มีความปลอดภัย มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม ซึ่งในค่ายทหารเปรียบเสมือนชุมชนขนาดใหญ่ไปจนถึงเมือง ๆ หนึ่ง ที่มีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งสถานที่ทำงาน บ้านพักอาศัย โรงพยาบาล ตลาด สถานที่ออกกำลังกาย สถานที่พักผ่อน ศูนย์การเรียนรู้ทุกรูปแบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากมาย ผู้บังคับหน่วยยังให้ความสำคัญมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างหน่วยให้มั่นคงเข้มแข็ง ปกป้องอธิปไตย รักษาความมั่นคงของชาติและช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะการพัฒนากำลังพลทั้ง นายทหาร นายสิบ พลทหาร และพนักงานลูกจ้างรวมทั้งมวลชนในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน พัฒนาหน่วยให้เจริญก้าวหน้า เพื่อให้มณฑลทหารบกที่ ๒๗ มีความเข้มแข็ง มั่นคง เป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา หน่วยงานราชการอื่น และประชาชน ในพื้นที่รับผิดชอบ สามารถยืนหยัดได้อย่างมีเกียรติ
มีศักดิ์ศรี เป็นเสาหลักพร้อมที่จะดูแลความมั่นคงปลอดภัย และแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ
ทั้งนี้ หน่วยยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคส่วนราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและมูลนิธิต่างๆ โดยมีส่วนร่วมบูรณาการในการที่จะพัฒนาพื้นที่ที่รับผิดชอบ จำนวน ๒ จังหวัด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร ให้มีเจริญก้าวหน้า นำพาความผาสุก ความสงบเรียบร้อย การพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกสถานการณ์ สมกับคำขวัญของกองทัพบกที่ว่า “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน”