มทบ.27 ร่วมรณรงค์ งานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล
เช้าวันนี้ (9 ธันวาคม 2562) เวลา 08.00 น.ที่ลานสาเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด พลตรี ธวัชชัย แจ้งประจักษ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27 อนุมัติให้ พันเอก วีรพงษ์ คำสิทธิ์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27 เข้าร่วมในพิธีเปิดการจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธาน และร่วมกิจกรรมเดินรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน จากสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ดไปยังห้องประดับเพชร โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด, พล.ต.ต. ไพโรจน์ มังคลา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
วันต่อต้านคอร์รัปชันสากลถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่แห่งสมัชชาสหประชาชาติ (United Nation) หรือ UN ได้มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 อย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ต่อจากนั้นประเทศภาคีสมาชิกUNจำนวน 191 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ก็ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวในระหว่างวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ดังนั้น องค์การสหประชาชาติ จึงได้ประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
การจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี 2562 เป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งปัจจุบันเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ในระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 – 2564) ซึ่งการกิจจัดกรรมเนื่องในวันต่อต้านการทุจริตสากลครั้งนี้ จะมีการจัดพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการจัดงาน ดังนี้
1) เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมและทุกภาคส่วน ได้ตระหนักในผลเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการทุจริต
2) เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร ภาคีเครือข่าย หน่วยงาน และ ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการป้องกันการทุจริตและลดปัญหาทุจริตในประเทศไทย
3) เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศ และสร้างกลุ่มเครือข่ายป้องกันการทุจริตที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต การยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก และการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (corruption perception index : CPI) ของประเทศไทยให้เพิ่มสูงขึ้น ต่อไป